นักออกแบบกราฟิกที่ผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยี

งานออกแบบกราฟิกหรือเรขนิเทศศิลป์ กระบวนการออกแบบเพื่อการสื่อสาร ที่ผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยี ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้การส่งสารดังกล่าวไปถึงผู้รับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด องค์ประกอบที่ใช้ในการทำงานกราฟิกจะประกอบไปด้วยภาพและ/หรือตัวอักษรเป็นสำคัญ

ปัจจุบันงานออกแบบกราฟิกจัดเป็นงานบริการประเภทหนึ่งที่นักออกแบบให้บริการผ่านการให้คำแนะนำ หรือการรับจ้างผลิตงานออกแบบ โดยอาศัยทักษะ ทฤษฎี หลักการ และกระบวนการคิดในการออกแบบ มาช่วยแก้ปัญหาด้านการสื่อสารและการรับรู้ เช่น การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ รายงานประจำปี ตราสัญลักษณ์ สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมถึงวีดิทัศน์ เว็ปไซต์ บรรจุภัณฑ์ และสื่อผสมทางอิเล็คโทรนิกส์อื่นๆ

ในภาวะที่ธุรกิจแข่งขันกันรุนแรงดังเช่นทุกวันนี้ การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ หนึ่งในผู้ที่สามารถแสดงบทบาทช่วยให้องค์กรและตราสินค้าทำการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ นักออกแบบกราฟิก

ประโยชน์ของการใช้งานนักออกแบบกราฟิก สามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้
1. ช่วยวางกรอบและเงื่อนไขของการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกองค์กร นักออกแบบกราฟิกจะพิจารณาเลือกวิธีการสื่อสารและเลือกใช้สื่อที่เหมาะสม เพื่อให้การสื่อสารทั้งหมดดำเนินไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ช่วยส่งเสริมการขายและการตลาด งานออกแบบกราฟิกที่ดีช่วยสร้าง/ปรับปรุงภาพลักษณ์ให้กับองค์กร สร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภคได้ โดยผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ กัน อาทิ การออกแบบเว็บไซต์ บรรจุภัณฑ์ สั่งพิมพ์โฆษณา ฯลฯ
3. มีส่วนช่วยในการตัดสินใจหรือให้ความคิดเห็นแก่ผู้ประกอบการ ในกรณีที่โครงงานมีทิศทางหรือแนวปฏิบัติที่หลากหลายและไม่สามารถหาข้อสรุปได้โดยง่าย

ขั้นตอนในการคัดเลือกและว่าจ้างนักออกแบบกราฟิก
1. ค้นหารายชื่อนักออกแบบหรือบริษัทออกแบบ พร้อมทั้งศึกษาลักษณะการให้บริการเบื้องต้น อาจเริ่มต้นจากที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กรมส่งเสริมการส่งออก สมาคมนักออกแบบ หรือถามจากผู้ประกอบการที่เคยใช้บริการประเภทดังกล่าวมาก่อน
2. เตรียมข้อมูลความต้องการ และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงงานให้พร้อม เพื่อเป็นโจทย์ตั้งต้นให้กับนักออกแบบ
3. เชิญนักออกแบบหรือบริษัทออกแบบที่สนใจเข้ามาแนะนำตัว โดยให้คำนึงถึงผลงานและประสบการณ์เป็นสำคัญ (อาจรวมถึงขนาด ศักยภาพ และความพร้อมในการทำงานด้วย)
4. นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจ และให้กรอบการพิจารณาคัดเลือกที่ชัดเจนแก่นักออกแบบ โดยข้อมูลที่ผู้ประกอบการและนักออกแบบควรทำความเข้าใจร่วมกัน ณ จุดนี้คือ
– รายละเอียดของสินค้าหรือบริการ รวมทั้งลักษณะเฉพาะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
– วิสัยทัศน์และขนาดของธุรกิจ
– คู่แข่งที่ชัดเจนทั้งทางตรงและทางอ้อม
– สาเหตุที่ธุรกิจต้องการความช่วยเหลือจากงานออกแบบ
– สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับจากการใช้นักออกแบบ
– แรงบันดาลใจอื่นๆ
5. จากนั้นจึงแจกแจงรายละเอียดโครงงานให้กับนักออกแบบ